พูดถึงอุปกรณ์ในการติดตั้งหลายๆท่านคงจะพอทราบกันบ้าง แต่บทความนี้ทางเราจะอธิบายเพิ่มเติมถึงหน้าที่และหลักการทำงานคร่าวๆ ก่อนที่จะเจาะลึกในบทความต่อๆไปว่าอุปกรณ์แต่ละชนิดที่จะต้องใช้ควบคู่ในการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปนั้นมีอะไรบ้าง
แผงโซลาร์เซลล์ หรือ PV Module
แผงโซลาร์เซลล์ หรือ PV Module เป็นสิ่งแรกที่จะเป็นที่นึกถึงในระบบอย่างแน่นอน ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันในขณะที่ผู้เขียนได้ทำการเขียนบทความนี้ก็คือ Monocrystalline Half cells หรือ N-Type ก็สุดแท้แล้วแต่ว่าแต่ละท่านจะเลือกรูปแบบเทคโนโลยีอะไรมาติดตั้ง
โดยแผงโซลาร์เซลล์นั้นเป็นปัจจัยสำคัญเพราะเป็นส่วนที่เปลี่ยนแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าโดยผ่าน Cells ภายในแผงโซลาร์ ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้จะเป็นผลึกแร่ซิลิคอน มาหลอมละลายและทำให้เป็นชิ้นและขึ้นรูปเป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่ทุกท่านได้เห็นผ่านตากันบ้างนั่นเอง
โดยแผ่นโซลาร์เซลล์ที่ขายกันนั้นจะมีขนาดกำลังไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้เป็นตัวตั้งเช่น 320W, 450W, 550W ซึ่งขนาดกำลังไฟฟ้าที่ผลิตออกมาได้นั้นจะแตกต่างกันตามขนาดแผงโซลาร์เซลล์ เพราะกำลังการผลิตยิ่งสูงตัว Cells ภายในแผงโซลาร์ก็จะมีขนาดต่อ Cells ที่ใหญ่ขึ้น จึงทำให้มีการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้มากยิ่งขึ้น
อินเวอเตอร์ (Inverter)
อินเวอเตอร์(Inverter) เป็นอุปกรณ์อันดับต่อมาที่จะมาในระบบโซลาร์รูฟท็อป สำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าแบบ AC หรือไฟฟ้ากระแสสลับ ก็จะต้องมาหาอุปกรณ์ที่แปลงรูปแบบไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์ที่มาเป็น DC(ไฟฟ้ากระแสตรง) มาเป็น AC เสียก่อน
โดยอุปกรณ์ Inverter เป็นอุปกรณ์ที่ภายในจะมีวงจรแปลงรูปแบบไฟฟ้าให้มีทั้งรูปแบบคลื่นไฟฟ้าและความถี่ไฟฟ้า ให้แปลงมาใกล้เคียงกับรูปแบบไฟฟ้าที่เราได้จาก Grid*
ซึ่ง Inverter ก็จะมี Rated Output ของเครื่องแต่ละรุ่นว่าสามารถขับกำลังไฟฟ้าได้สูงที่สุดกี่ kW เพราะฉะนั้นในการเลือกรุ่นและขนาด Inverter ก็จะต้องดูให้สอดคล้องกับจำนวนแผงโซลาร์เซลล์ที่เราวางแผนจะติดตั้งไว้ ให้เหมาะสมกันเพราะถ้าขนาด Inverter มีขนาด kW ที่สามารถขับออกมาได้น้อยกว่าจำนวนแผงโซลาร์เซลล์ที่ทำการติดตั้งไปแล้วนั้นอาจจะทำให้ Inverter มีปัญหาหรือเสียหายได้
ตู้ควบคุมระบบโซลาร์ (Combiner Box)
ตู้ควบคุมระบบโซลาร์ (Combiner Box) เป็นเซ็ตสวิตช์ตัดตอนระบบระหว่างแผงโซลาร์เซลล์กับ Inverter และระหว่าง Inverter กับ ตู้เมนต์ไฟฟ้าของบ้านอยู่อาศัย ซึ่งจำเป็นต่อการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปในการเซอร์วิสในภายหลัง เนื่องจากจุดเชื่อมต่อระหว่างระบบนั้นมีความสำคัญและเปราะบาง ทำให้เพื่อความปลอดภัยของระบบโดยรวมทั้ง เมนต์ไฟบ้าน, Inverter จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์คั่นไว้เพื่อทำการป้องกันระบบในกรณีที่เกิดการลัดวงจร