Solar Rooftop System(ระบบโซล่ารูฟท๊อป) มีการแบ่งระบบหลักๆ อย่างไรบ้าง
ตามปกติแล้วระบบ Solar Rooftop System จะมีการแบ่งด้วยกันอยู่ 2 ระบบ
1. On-Grid Solar system : ระบบนี้จะเป็นระบบที่เรียบง่ายที่สุดในการติดตั้ง Solar Rooftop แล้วครับ โดยรูปแบบจะเป็นการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และให้กำลังไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์วิ่งผ่านมาแปลงรูปแบบไฟฟ้าที่อุปกรณ์ Power Conversion Equipment (PCE) ซึ่งในที่นี้เราจะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า “Inverter” ครับ ก่อนที่จะมาเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าที่จุดเชื่อมต่อบริเวณตู้ควบคุมระบบไฟฟ้าหลักภายในบ้านอยู่อาศัย
การติดตั้งรูปแบบนี้จะเป็นการเชื่อมต่อโดยตรงระหว่างระบบ Solar Rooftop (ระบบโซล่ารูฟท๊อป) และโครงข่ายการไฟฟ้าสาธารณะ (Grid) จึงเป็นการผูกการเชื่อมต่อกับการไฟฟ้าโดยตรงครับ
On Grid จะเป็นรูปแบบที่ระบบ Solar Rooftop มีการผลิตกำลังไฟฟ้าได้เท่าไหร่ จะส่งมาใช้ทันทีภายในบ้านอยู่อาศัยโดยที่ไม่ได้มีแบตเตอรี่เก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้ในตอนกลางคืนหรือไฟดับครับ
2. Off-Grid Solar system: ระบบนี้จะเป็นระบบที่ไม่ได้มีการไปเชื่อมต่อกับโครงข่ายการไฟฟ้าสาธารณะ (Grid) ครับ อีกคำนึงที่ต่างประเทศใช้กันคือ “Stand alone system” เปรียบง่ายๆเหมือนว่าบ้านอยู่อาศัยนั้นจะไม่ได้ใช้ไฟจากการไฟฟ้าเลยครับ แต่จะหวังพึ่งระบบไฟฟ้าจาก Solar Rooftop ล้วนๆ เพราะฉะนั้นระบบนี้จำเป็นจะต้องมีแบตเตอรี่เข้ามากักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตมาจากแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อสำรองไฟฟ้าไว้ใช้ในช่วงเวลาที่ไม่มีแสงแดด หรือช่วงเวลากลางคืนนั่นเองครับ
ต้องบอกว่าระบบนี้เป็นอีกระบบนึงครับ ที่มาในช่วงหลังที่ผ่านมาไม่นาน เราเรียกระบบนี้ว่า “Hybrid” ครับ
การติดตั้งระบบนี้คือการเชื่อมต่อระบบ Solar Rooftop แบบเชื่อมต่อกับโครงข่ายการไฟฟ้า (On Grid) และมีการเพิ่มอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Battery) เข้าไปเพิ่มเติมในระบบ
ระบบนี้ถือว่ามาเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้งานไฟฟ้าได้อย่างมากครับ ทำให้พื้นที่ไหนที่มีการเกิดไฟดับบ่อยๆ จะได้ประโยชน์ค่อนข้างมากในการมี Battery Backup เพื่อนำไฟฟ้าจาก Battery มาชดเชยในช่วงเวลานั้นได้
ระบบ On Grid solar system เหมาะกับใคร และมีข้อดี-ข้อเสีย อย่างไรบ้าง
จากที่ผมอธิบายไปว่าระบบ On Grid เป็นระบบที่ผลิตกำลังไฟฟ้าจากระบบ Solar Rooftop แล้วจ่ายมาใช้ในบ้านเลยทันที เพราะฉะนั้นระบบนี้จะเหมาะกับบ้านอยู่อาศัยที่มีการใช้ไฟในบ้านเยอะในช่วงกลางวันมากกว่าหรือเทียบเท่ากับกลางคืนครับ
ยกตัวอย่างเช่น บ้านที่มีคนอยู่บ้านและใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน โดยควรจะต้องมีการเปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงกลางวันด้วย อันนี้ผมคิดว่าเหมาะสมครับเพราะถือว่ามีการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันเยอะ
หรืออีกกรณีนึง สถานที่ทำงานหรือร้านกาแฟ ที่มีการเปิดทำการในช่วงเวลากลางวันปกติหรือ Office time นี่แหละครับ จะเป็นสถานที่ที่ควรติดตั้งระบบ On Grid มากๆ เพราะมีการใช้กำลังไฟฟ้าเยอะ และมีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าซ้ำๆเหมือนเดิมไม่ค่อยต่างกันในแต่ละวัน ยิ่งทำให้การดีไซน์ขนาดกำลังติดตั้งของระบบเหมาะสมกับการใช้งานอย่างมากครับ
ส่วนข้อเสียของระบบ On Grid นั้นผมจะเล่าจากประสบการณ์ในการติดตั้งอย่างนี้ครับ
- การติดตั้งไปก่อนโดยไม่ได้ประเมิณขนาดการติดตั้งให้เหมาะสมกับการใช้งาน
ผมเคยเจอว่าลูกค้ามีการติดตั้งไปก่อนครับโดยไม่ได้ประเมิณว่าการใช้ไฟฟ้าในบ้านเป็นเท่าไหร่ เช่นบ้านอยู่อาศัยใช้ไฟ 1 Phase เลือกติดตั้ง 5kW ทันที หรือบ้าน 3Phase เลือก 10kW ทันที ซึ่งใช้ไปแรกๆก็โอเคดีครับ แต่หลังๆพอการใช้ไฟฟ้าภายในบ้านใช้ไม่ถึงกับระบบที่ติดตั้งไป ความคุ้มค่าในการติดตั้งจะน้อยลงครับ ถึงแม้เราจะทำเรื่องขายไฟคืนระบบโซลาร์ภาคประชาชนแล้วก็ตาม
2. การติดตั้งจะต้องขออนุญาตกับการไฟฟ้า
การติดตั้ง On Grid เป็นการผูกการเชื่อมต่อระหว่างระบบ Solar Rooftop และโครงข่ายการไฟฟ้าครับ ซึ่งต้องอย่าลืมครับว่าการที่เราไปเชื่อมต่อนั้นเสมือนว่าเราไปขอแจมระบบกับการไฟฟ้าสาธารณะหน้าบ้าน จึงต้องทำการขออนุญาตและแจ้งให้การไฟฟ้ารับทราบ
ซึ่งการขออนุญาตและแจ้งให้ทราบนั้นจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากพอสมควร และจะต้องใช้ใบประกอบวิชาชีพวิศวกรซึ่งก็ต้องไปว่าจ้างบุคคลอื่นให้ทำแทนอยู่ดี
หลายคนถามผมว่าตัวแผงโซลาร์เซลล์ หรือ Inverter ก็เป็นอุปกรณ์ที่ซื้อมาเอง และผลิตไฟจากแดดได้เอง ไม่เห็นจะต้องไปขอการไฟฟ้าก็ได้ไหม แต่อย่างที่ผมแจ้งครับว่าถ้าเราทำเป็นแบบระบบ Off Grid อันนั้นถือว่าเราอยู่ได้ด้วยตัวเองครับ ไม่ต้องไปขออนุญาตแต่อย่างใด
ระบบ Off Grid solar system เหมาะกับใคร มีข้อดี-ข้อเสีย อย่างไร
ด้วยความเป็นระบบ Stand Alone เปรียบเทียบง่ายๆจะเหมือนเป็นอะไรที่ต้องพึ่งพาตัวเอง 100% ครับ ซึ่งผมมองว่าด้วยระบบสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าหรือประปา ในประเทศเราส่วนใหญ่ทุกพื้นที่จะมีกันเกือบหมด อาจจะมีบางพื้นที่จริงๆที่ไฟฟ้าและประปาจะยังเข้าไม่ถึง ซึ่งนั่นเป็นจุดที่ระบบ Off Grid สมควรติดตั้งครับ
และด้วยความที่ระบบนี้จะต้องพึ่งพาแบตเตอรี่ในการเก็บพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้งานในตอนกลางคืน หรือวันที่แดดไม่ดีเช่นฝนตก จึงเป็นระบบที่ผมมองว่าความยืดหยุ่นต่ำครับ การใช้ไฟฟ้าไม่ควรจะใช้เยอะเกินไป
แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ไม่ใช่ทุกเครื่องบนโลกใบนี้ที่ใช้ระบบ AC หรือไฟฟ้ากระแสสลับ แต่ก็จะมีเครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภทเหมือนกันที่ใช้ระบบ DC หรือไฟฟ้ากระแสตรง เช่นหลอดไฟ,พัดลม,หม้อหุงข้าว และบางคนก็ยัง Modify เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เดิมเคยเป็น AC เปลี่ยนไปเป็น DC ก็มีครับ
เหตุผลเพราะต้องการให้ระบบปลดล็อคจากการใช้ Inverter ในการแปลงไฟ และต้องการใช้กำลังไฟฟ้ายิงตรงจากแบตเตอรี่เข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าได้เลย แต่ก็ต้องเข้าใจในเรื่องของระดับแรงดันนะครับ ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นๆใช้ระดับไฟฟ้ากระแสตรง DC ที่กี่โวลท์